วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555


ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนวัตกรรม  เทคโนโลยี   และสารสนเทศ

 ความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
                 “เทคโนโลยีหมายถึง การนำเอาขบวนการ วิธีการและแนวความคิดใหม่ๆ มาใช้หรือประยุกต์ใช้อย่างมีระบบ เพื่อให้การ ดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายตัวทางวิทยาการทำให้เกิดเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานในสาขาต่างๆ อย่าง หลากหลาย
                นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การนำความคิดใหม่ๆ วิธีการปฏิบัติใหม่ๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรืออาจจะได้รับการปรับปรุงจากสิ่งดั้งเดิมให้ดีขึ้น เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รับการทดลอง พิสูจน์และพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ จนเชื่อถือได้ว่าให้ผลที่ดีกว่าเดิม นำมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติทางการศึกษา เป็นผลทำให้ประสิทธิภาพทางการศึกษาสูงขึ้น
                สารสนเทศ คือ ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบและจัดกระทำ กับข้อมูล โดยวิธีการต่าง ๆ จนเป็นข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ และบันทึกไว้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปของทรัพยากรตีพิมพ์ ทรัพยากรไม่ตีพิมพ์ และทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ และกระบวนการถ่ายทอดข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ สามารถนำ ไปใช้ประโยชน์ หรือเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจตามวัตถุประสงค์ของตนหรือขององค์กรได้

             ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
             ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มีการพัฒนาคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่อการดำชีวิตเป็นอันมาก เทคโนโลยีได้เข้ามาเสริมปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีทำให้การสร้างที่พักอาศัยมีคุณภาพมาตรฐาน สามารถผลิตสินค้าและให้บริการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์มากขึ้น เทคโนโลยีทำให้ระบบการผลิตสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากมีราคาถูกลง สินค้าได้คุณภาพ เทคโนโลยีทำให้มีการติดต่อสื่อสารกันได้สะดวก การเดินทางเชื่อมโยงถึงกันทำให้ประชากรในโลกติดต่อรับฟังข่าวสารกันได้ตลอดเวลา
นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
           ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย
           ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
           ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์


นวัตกรรมทางการศึกษา(Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ(Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น
เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
          1. การขยายพิสัยของทรัพยากรของการเรียนรู้ กล่าวคือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มิได้หมายถึงแต่เพียงตำรา ครู และอุปกรณ์การสอน ที่โรงเรียนมีอยู่เท่านั้น แนวคิดทางเทคโนโลยีทางการศึกษา ต้องการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนจากแหล่งความรู้ที่กว้างขวางออกไปอีก แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ครอบคลุมถึงเรื่องต่างๆ เช่น
              1.1 คน คนเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งได้แก่ ครู และวิทยากรอื่น ซึ่งอยู่นอกโรงเรียน เช่น เกษตรกร ตำรวจ บุรุษไปรษณีย์ เป็นต้น
              1.2 วัสดุและเครื่องมือ ได้แก่ โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องวิดีโอเทป ของจริงของจำลองสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงการใช้สื่อมวลชนต่างๆ
              1.3 เทคนิค-วิธีการ แต่เดิมนั้นการเรียนการสอนส่วนมาก ใช้วิธีให้ครูเป็นคนบอกเนื้อหา แก่ผู้เรียนปัจจุบันนั้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองได้มากที่สุด ครูเป็นเพียง ผู้วางแผนแนะแนวทางเท่านั้น
              1.4 สถานที่ อันได้แก่ โรงเรียน ห้องปฏิบัติการทดลอง โรงฝึกงาน ไร่นา ฟาร์ม ที่ทำการรัฐบาล ภูเขา แม่น้ำ ทะเล หรือสถานที่ใด ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียนได้
         2. การเน้นการเรียนรู้แบบเอกัตบุคคล ถึงแม้นักเรียนจะล้นชั้น และกระจัดกระจาย ยากแก่การจัดการศึกษาตามความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้พยายามคิด หาวิธีนำเอาระบบการเรียนแบบตัวต่อตัวมาใช้ แต่แทนที่จะใช้ครูสอนนักเรียนทีละคน เขาก็คิด แบบเรียนโปรแกรมซึ่งทำหน้าที่สอน ซึ่งเหมือนกับครูมาสอน นักเรียนจะเรียนด้วยตนเอง จากแบบเรียนด้วยตนเองในรูปแบบเรียนเป็นเล่ม หรือเครื่องสอนหรือสื่อประสมหลายๆ อย่าง จะเรียนช้าหรือเร็วก็ทำได้ตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน
          3. การใช้วิธีวิเคราะห์ระบบในการศึกษา การใช้วิธีระบบ ในการปฏิบัติหรือแก้ปัญหา เป็นวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อถือได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหา หรือช่วยให้งานบรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากกระบวนการของวิธีระบบ เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของงานหรือของระบบ อย่างมีเหตุผล หาทางให้ส่วนต่าง ๆ ของระบบทำงาน ประสานสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ
          4. พัฒนาเครื่องมือ-วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา วัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษา หรือการเรียนการสอนปัจจุบันจะต้องมีการพัฒนา ให้มีศักยภาพ หรือขีดความสามารถในการทำงานให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก
แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมทางการศึกษา
          ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อวิธีการศึกษา ได้แก่แนวความคิดพื้นฐานทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาที่สำคัญๆ พอจะสรุปได้4 ประการ คือ
          1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) การจัดการศึกษาของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะเห็นได้จากแผนการศึกษาของชาติ ให้มุ่งจัดการศึกษาตามความถนัดความสนใจ และความสามารถ ของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การจัดระบบห้องเรียนโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์บ้าง ใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์บ้าง นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น
              - การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School)
              - แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
              - เครื่องสอน (Teaching Machine)
              - การสอนเป็นคณะ (TeamTeaching)
              - การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
              - เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)
          2. ความพร้อม (Readiness) เดิมทีเดียวเชื่อกันว่า เด็กจะเริ่มเรียนได้ก็ต้องมีความพร้อมซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถ้าหากสามารถจัดบทเรียน ให้พอเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน วิชาที่เคยเชื่อกันว่ายาก และไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กก็สามารถนำมาให้ศึกษาได้ นวัตกรรมที่ตอบสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
              - ศูนย์การเรียน (Learning Center)
              - การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
              - การปรับปรุงการสอนสามชั้น (Instructional Development in 3 Phases)
           3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา แต่เดิมมาการจัดเวลาเพื่อการสอน หรือตารางสอนมักจะจัดโดยอาศัยความสะดวกเป็นเกณฑ์ เช่น ถือหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง เท่ากันทุกวิชา ทุกวันนอกจากนั้นก็ยังจัดเวลาเรียนเอาไว้แน่นอนเป็นภาคเรียน เป็นปี ในปัจจุบันได้มีความคิดในการจัดเป็นหน่วยเวลาสอนให้สัมพันธ์กับลักษณะของแต่ละวิชาซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางวิชาอาจใช้ช่วงสั้นๆ แต่สอนบ่อยครั้ง การเรียนก็ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
              - การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling)
              - มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)
              - แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
              - การเรียนทางไปรษณีย์
          4. ประสิทธิภาพในการเรียน การขยายตัวทางวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้มีสิ่งต่างๆ ที่คนจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก แต่การจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปัจจัยภายนอก นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น
              - มหาวิทยาลัยเปิด
              - การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์
              - การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป
              - ชุดการเรียน
ขอบข่ายของนวัตกรรม
                สำหรับนวัตกรรมทางการศึกษา อาจมีขอบข่ายในเรื่องอื่นๆ ดังต่อไปนี้
1.             การจัดการเรื่องการสอนด้วยวิธีการใหม่ๆ
2.             เทคนิควิธีการสอนแบบต่าง ๆ  ที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน
3.             การพัฒนาสื่อใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน
4.             การใช้เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาปรับใช้ในระบบการเรียนการสอนในระบบทางไกลและการเรียนด้วยตัวเอง
5.             วิธีการในการออกแบบหลักสูตรใหม่  ๆ
                6.             การจัดการด้านการวัดผลแบบใหม่ 

ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับนวัตกรรม
คำว่า นวัตกรรม เป็นคำที่ใช้ควบคู่กับ เทคโนโลยี เสมอๆ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Innotech ความจริงแล้ว  นวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากนวัตกรรมเป็นเรื่องของการคิดค้นหรือการกระทำใหม่ ๆเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นของการเสนอความคิดหรือในขั้นของการทดลองอยู่ก็ได้ ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของสังคม ส่วนเทคโนโลยีนั้นมุ่งไปที่การนำสิ่งต่าง ๆรวมทั้งวิธีการเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน หรือแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าหากพิจารณาว่านวัตกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้น่าจะนำมาใช้ การนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้นี้ ก็จัดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้วย และในการใช้เทคโนโลยีนี้ถ้าเราทำให้เกิดวิธีการหรือสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรม เราจึงมักเห็นคำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี อยู่ควบคู่กันเสมอ
ลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
               โดยพื้นฐานของเทคโนโลยีย่อมมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ แต่เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นอยู่ของสังคมสมัยใหม่อยู่มาก ลักษณะเด่นที่สำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศมีดังนี้ 
               – เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในการประกอบการทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการอุตสาหกรรม จำเป็นต้องหาวิธีในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารเข้ามาช่วยทำให้เกิดระบบอัตโนมัติ เราสามารถฝากถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มได้ตลอดเวลา ธนาคารสามารถให้บริการได้ดีขึ้น ทำให้การบริการโดยรวมมีประสิทธิภาพ ในระบบการจัดการทุกแห่งต้องใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินการและการตัดสินใจ ระบบธุรกิจจึงใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยในการทำงาน เช่น ใช้ในระบบจัดเก็บเงินสด จองตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น 
               – เทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนรูปแบบการบริการเป็นแบบกระจาย เมื่อมีการพัฒนาระบบข้อมูล และการใช้ข้อมูลได้ดี การบริการต่าง ๆ จึงเน้นรูปแบบการบริการแบบกระจาย ผู้ใช้สามารถสั่งซื้อสินค้าจากที่บ้าน สามารถสอบถามข้อมุลผ่านทางโทรศัพท์ นิสิตนักศึกษาบางมหาวิทยาลัยสามารถใช้คอมพิวเตอร์สอบถามผลสอบจากที่บ้านได้ 
               – เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับการดำเนินการในหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันทุกหน่วยงานต่างพัฒนาระบบรวบรวมจัดเก็บข้อมูลเพื่อใข้ในองค์การประเทศไทยมีระบบทะเบียนราษฎร์ที่จัดทำด้วยระบบ ระบบเวชระเบียนในโรงพยาบาล ระบบการจัดเก็บข้อมูลภาษี ในองค์การทุกระดับเห็นความสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ 
               - เทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวข้องกับคนทุกระดับ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จาก การพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ การใช้ตารางคำนวณ และใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมแบบต่าง ๆ เป็นต้น

ความสำคัญของสารสนเทศ
สารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญของโลกปัจจุบัน ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาการเมืองเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์แลสังคมในทุกระดับทำให้บุคคลสามารถเสริมสร้างความรู้ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการงานและชีวิตส่วนตัว ตลอดจนแนวทางแก้ไข การวางแผนและการตัดสินได้อย่างเด่นชัดผู้ใดที่ใฝ่รู้และได้รับ สารสนเทศที่มีคุณค่า ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ผู้นั้นย่อมได้รับชัยชนะเหนือผู้อื่นและจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ ช่วยลดช่องวางความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ ทำให้เกิดสังคมยุคสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคมในการทำงานการใช้ชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้ดังจะเห็นได้ดังจากบริบทของคำต่างๆที่ใช้ เช่น สำนักงานอัตโนมัติ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาทางไกลผ่านเครือข่าย การติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และการแพร่กระจ่ายข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตและเว็บสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมสารสนเทศ ซึ่งเป็นสังคมที่มุ่งเน้นคุณค่าของข้อมูลข่าวสาร มีการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ กันตลอดเวลา และเกิดข้อมูลข่าวสารใหม่ที่มีความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาต่อไป ในทางกลับกัน เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำกันของโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร จากการที่เทคโนโลยีสารสนเทศแพร่กระจายไปยังประชาชนของโลกได้ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงเกิดช่องว่างระหว่างผู้มีข่าวสารและผู้ไร้ข่าวสารซึ่งเป็นสาระที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข ยิ่งกว่านั้นในสังคมปัจจุบัน ความรู้ใหม่มีมากมายเกินกว่าจะทำการถ่ายทอดหรือจดจำข้อหาสาระได้หมด อีกทั้งวิทยาการและความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การเรียนรู้ทักษะสารสนเทศในสังคมยุคสารสนเทศจึงจำเป็น และสำคัญ ผู้เรียนต้องมีทักษะการสืบค้น ทักษะการติดต่อสื่อสาร และทักษะการจัดเก็บข้อมูล ควบคู่ไปกับทักษะทางด้านภาษา เพื่อใช้ในการศึกษาและการติดต่อสื่อสาร ทักษะการเรียนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องเน้นปลูกฝังให้กับเยาวชน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต